วันอาทิตย์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

Please Mind the Gap

                      Please Mind the Gap  โปรดระวังห้องว่างระหว่างเรา เป็นนิทรรศการชั่วคราวของมิวเซียมสยาม ตั้งแต่วันที่ 18 - 31 พฤษภาคม 2555 โดย
นิทรรศการได้มีการนำเสนอผ่าน “ห้องนอนและห้องน้ำ” ของคน 3 ยุค โดยกระตุ้นให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนอยู่ในยุคนั้นด้วยสิ่งของเครื่องใช้และเสียงประกอบเสมือนจริง        


              เริ่มตั้งแต่ห้องแรก ทางเข้ามีเพียงแค่ไม้กระดานแผ่นเดียว บรรยากาศในห้องเป็นห้องนอนของคนในสมัยก่อน ที่นอนก็มีเพียงเสื่อ และมีเพียงข้างของที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น

     





                   ต่อมาก็เป็นอีกยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ชัดจากเฟอนิเจอร์ภายในห้อง ที่เริ่มพัฒนาจากเสื่อมาเป็นเตียงนอน และเริ่มมีโซฟา



              ห้องสุดท้ายคือห้องในยุคปัจจุบัน ซึ่งภายในมีโทรทัศน์วางอยู่เหนือเตียงนอนเพียงนิดเดียว คล้ายกับว่าพื้นที่ภายในห้องนั้นจะต้องใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผ่านการออกแบบมาอย่างดี รวมไปถึงเครื่องเล่นเกมที่วางอยู่บนเตียงนอน ซึ่งทุกสิ่งในห้องนี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งสิ้น



             นิทรรศการนี้มีการสรุปคำตอบเรื่องความแตกต่างด้วย “ภาพยนตร์สั้น” ที่กล่าวถึงพ่อและลูกชายในแต่ละยุคสมัย เนื้อเรื่องเล่าถึงวิถีการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติตนต่อกันระหว่างพ่อกับลูก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย





"เท่ดี เหมือนได้ย้อนเวลา ระลึกถึงอดีต ถึงอะไรต่อมิอะไรที่เกือบจะลืมไปแล้ว    อย่างโทรศัพท์แบบหมุนเลข หรือปี๊บลูกอมฮอลล์ที่ตอนเด็กแอบขโมยย่ามากิน"
- นักศึกสาวเคยมาเที่ยวมิวเซียมสยามถึง 2 ครั้ง

 "มาบ่อยครับ ตั้งแต่เรียนอยู่ท่าพระจันทร์แล้ว แฟนชอบมาก็เลยต้องมาเป็นเพื่อน จากที่ไม่เคยมาที่แบบนี้ แต่ตอนนี้บอกตรงๆว่าชอบมาก มันไม่เหมือนที่อื่นอ่ะ แต่ที่ชอบมากเลยคือ นิทรรศการชั่วคราวของเค้าอ่ะ มันน่าสนใจดี" - อดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"เพิ่งเคยมาค่ะ วันนี้มาทำรายงานก็เลยชวนเพื่อนมาด้วย เนื้อหาที่เค้าแสดงมันเข้าใจง่ายกว่าที่เรียนมาอีกค่ะ ดูไม่ซับซ้อนดี" - นักเรียนชั้นม.3 โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย

"ไม่เคยไปเลย ก็อยากไปอยู่นะเห็นเค้าว่ามันดีมากเลย แบบว่าไม่น่าเบื่อ แต่บ้านอยู่ไกลไง เลยไม่รู้จะไปยังไง" - พนักงานธนาคารกรุงศรี


           นิทรรศการทั้งหมดในมิวเซียมสยามแห่งนี้ ต้องบอกเลยว่าเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้สมกับคำจำกัดความโดยแท้จริง ดังนั้นจึงอยากเชิญชวนให้คนไทยทุกคนได้มีโอกาสไปเรียนรู้ และสัมผัสกับบรรยากาศของห้องจัดแสดงทุกๆห้องภายในมิวเซียมสยามแห่งนี้ ถึงแม้ว่าจุดประสงค์ในการเยี่ยมชมของแต่ละคนจะแตกต่างกัน แต่หลังจากที่เข้าไปชมแล้วรับรองว่าความรู้สึกที่มีต่อคำว่าพิพิธภัณฑ์จะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน


เวลาให้บริการ : วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น.
โทรศัพท์        : 02-225-2777
เว็บไซต์         : www.museumsiam.com

D+PLUS Guid Team.ชม ชิม ช้อป ชิลล์ in กรุงเทพฯ.พิมพ์ครั้งที่1.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์D+PLUS,2554.
ศรัชศรณ์ ศรประสิทธิ์.สัมภาษณ์,25 พฤษภาคม 2555.
สมฤกษ์ พลอยงาม.สัมภาษณ์,26 พฤษภาคม 2555.
กัณฑรินทร์ ท.ธรรมธาดา.สัมภาษณ์,26 พฤษภาคม 2555.
ธิดารัตน์ กฤษน้อย.สัมภาษณ์,27 พฤษภาคม 2555. 

บริเวณชั้น 2

              ลงมาที่ชั้น 2 ตามคำแนะนำของพนักงานก็จะมาเจอกับ "ห้องแผนที่ ความยอกย้อนบนแผ่นกระดาษ" จะเป็นการรวบรวมแผนที่ของกรุงศรีอยุธยาที่วาดขึ้นโดยฝีมือชาวยุโรป ตั้งแต่ครั้งที่เดินทางมายังแผ่นดินนี้ ซึ่งถือเป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่ง เนื่องจากมีการบอกเล่าเรื่องราวที่มา และมีภาพการวางผังเมืองของอยุธยา

บรรยากาศภายในห้องจัดแสดง


แผนที่


                   ถัดมาเป็น "ห้องกรุงเทพฯ ภายใต้ฉากอยุธยา" เป็นห้องที่บอกเรื่องราวสมัยสิ้นกรุงศรีอยุธยา จากนั้นชาวกรุงศรีฯก็ได้สร้างเมืองของพวกเขาขึ้นมาใหม่บนพื้นแผ่นดินบางกอก  ซึ่งภายในห้องได้มีการจำลองแนวคิดและสืบสานวัฒนธรรมมาจากเมืองเก่ามากมาย จึงได้เกณฑ์ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติมาช่วยกัน จนเมื่อสร้างเสร็จจึงได้ั้ตั้งถิ่นฐานและกลายเป็นชาวกรุงเทพฯในที่สุด

บรรยากาศภายในห้องกรุงเทพฯ ภายใต้ฉากอยุธยา



                       ห้องต่อมาคือ "ห้องชีวิตนอกกรุงเทพฯ" แสดงให้เห็นถึงวิถีเกษตรที่ผูกพันกับชาวสยามมาช้านาน บรรยากาศภายในห้องสื่อให้เห็นถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นและความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นของเล่น อุปกรณ์การดักสัตว์ รวมไปถึงความเชื่อและพิธีกรรมต่างในสมัยนั้น

ภาพการทำนา


หุ่นไล่กา ความเชื่อที่ได้จากชีวิตจริง



                 "ห้องแปลงโฉมสยามประเทศ"คือห้องถัดมา เป็นห้องที่แสดงการเปลี่ยนแปลงของสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากการติดต่อกับโลกตะวันตก ทำให้เกิดปรากฎการณ์ใหม่ๆขึ้นมา เริ่มตั้งแต่การเริ่มสร้างถนนซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการคมนาคมของคนสมัยนั้น ซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่นับแต่นั้นเป็นต้นมา                                
ผู้คนสนุกสนานกับการลองชุดสมัยรัชกาลที่ 5


เครื่องแต่งกายถูกจัดเรียงไว้อย่างสวยงาม


               ถัดมาเป็น"ห้องกำเนิดประเทศไทย" เป็นห้องที่แสดงเรื่องราวในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้การปฏิวัติ 2475 และเป็นจุดเริ่มต้นกระบวนการสร้าง "รัฐประชาชาติ" ซึ่งมีประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ และในยุคนี้จะเริ่มมีสื่อต่างๆ อย่างเช่น วิทยุ โทรทัศน์ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

ห้องกำเนิดประเทศไทย



                 เดินต่อมาก็ต้องสะดุดตากับแสง สี เสียง ณ"ห้องสีสันตะวันตก" ห้องนี้เป็นการเล่าเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในยุค 60 เป็นเหมือนความเจริญหลังความบอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ความสนุกสนานได้กล่อมให้ผู้คนลืมความเจ็บปวดจากสงครามไปหมดสิ้น และบ้านเมืองเริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย

บรรยากาศยุค 60

                   ถัดมาคือ"ห้องเมืองไทยวันนี้" เป็นห้องอุโมงค์กระจกขนาดใหญ่และมีโทรทัศน์เครื่องเล็กรายล้อมทั่วห้องนับ 100 เครื่อง แสดงทั้งภาพ สี และเสียงถึงสิ่งที่เข้ามาในชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย อันเกิดจากความหลากหลายที่ผสมผสานจนกลายเป็นคนไทยในปัจจุบัน



                    สิ้นสุดชั้น 2 ด้วย"ห้องมองไปข้างหน้า" ในห้องมีเพียงจอภาพขนาดใหญ่ที่แสดงตัวหนังสือผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จากมือของผู้ชม ซึ่งสะท้อนความรู้สึกที่ว่าอยากจะให้ประทศไทยเป็นอย่างไร




ศิวพร ปิยะะศรีสวัสดิ์."Museum Siam A New Chapter for Thai Museum."กินรี.25(5):44-48,2551.
(มิวเซียมสยาม,th.wikipedia.org,27 พฤษภาคม 2555)

บริเวณชั้น 3

              จบจากชั้น 1 ก็จะขึ้นมายังบริเวณชั้น 3ก่อน โดยที่จะเริ่มที่ห้อง "สุวรรณภูมิ" เป็นการเปิดตำนานสุวรรณภูมิที่แสดงถึงวิวัฒนาการก่อนที่คนไทยจะมาเป็นบรรพบุรุษ นอกจากนี้ ภายในห้องยังแสดงถิ่นฐานที่ตั้งของดินแดนสุวรรณภูมิ การเกษตร การสร้างเมือง รวมไปถึงความหลากหลายของคนและวัฒนธรรม

 

ย้อนรอยสุวรรณภูมิ


                     ห้องต่อมาคือ "พุทธปัญญา" เป็นห้องที่แสดงถึงสัจธรรมและแสดงถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ ยังมีคำถามยอดนิยมแห่งสุวรรณภูมิ ซึ่งบรรยากาศภายในห้องจะเป็นการส่องไฟทั้งข้างบนและข้างล่างเป็นรูปคล้ายดอกบัวที่ตัวเสาที่เป็นบริเวณข้อมูล ถือเป็นห้องที่มีความสวยงามมากอีกห้องหนึ่งเลยที่เดียว

 

                                              

                     ต่อจากห้อง"พุทธปัญญา" ก็จะเป็นห้อง"กำเนิดสยามประเทศ" ภายในห้องนี้มีการนำเสนอด้วยเทคนิคที่หลากหลาย มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแสดงเรื่องราวความเป็นมาของอาณาจักรต่างๆในดินแดนสยาม เรื่องราวของบรรพบุรุษผู้สร้างกรุงศรีอยุธยาจากตำนานท้าวอู่ทอง

บรรยากาศภายใน "ห้องกำเนิดสยามประเทศ"

งานพระเมรุสมัยกรุงศรีอยุธยา
                    
                      ต่อมาคือห้อง "สยามประเทศ" เป็นห้องที่แสดงเรื่องราวความเป็นอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่ามีสภาพภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมและมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ และยังเป็นอาณาจักรที่อยู่ใกล้ทะเล ต่อมาจึงได้พัฒนาตัวเองขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าทางทะเลของภูมิภาค ดังนั้นจึงเป็นที่มาว่าทำไมในห้องนี้จึงมีแต่เรือจำลองตั้งแต่เรือบ้านถึงเรือราชพิธี    






                    ห้องถัดมาคือ "สยามยุทธ์" เป็นห้องที่แสดงรูปแบบการรบ กำลังพล และการทำสงครามในสมัยอยุธยา แต่นอกจากการสู้รบแล้ว ยังมีการแสดงถึงภูมิปัญญา กลุ่มชาติพันธุ์และศิลปกรรมอีกด้วย นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมเล่นเกมการวางกลยุทธ์การสู้รบที่จัดไว้ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งห้องนี้นับเป็นห้องสุดท้ายของสมัยอโยธยา

พลเท้าแบกโพล่

เกมวางกลยุทธ์การสู้รบ
               

ศิวพร ปิยะะศรีสวัสดิ์."Museum Siam A New Chapter for Thai Museum."กินรี.25(5):44-48,2551.
"Museum Siam ขนบใหม่แห่งพิพิธภัณฑ์."ผู้จัดการ.25(298):144-149,2551.
(มิวเซียมสยาม,th.wikipedia.org,27 พฤษภาคม 2555)
(http://www.museumsiam.com, 27พฤษภาคม 2555)

วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บริเวณชั้นที่ 1

            การเดินชมนิทรรศการเริ่มต้นด้วย "ห้องเบิกโรง" เป็นห้องฉายภาพยนตร์ เพื่อแนะนำตัวละครทั้ง 7 ที่จะย้อนเวลากลับไปเกือบสามพันปีก่อน อันเป็นเรื่องราวที่เป็นต้นกำเนิดจากสุวรรณภูมิสู่ประเทศไทยในปัจจุบัน เพื่อค้นหาคำตอบว่าเราคือใครและอะไรคือไทย ก่อนที่จะเข้าสู่การเดินชมมิวเซียมสยามในห้องต่างๆ


"ห้องเบิกโรง"


ภาพยนตร์สั้นแนะนำตัวละครทั้ง 7


                      ห้องถัดมาคือ "ห้องไทยแท้"  เป็นห้องที่กระตุ้นความอยากรู้ว่าไทยแท้คืออะไร บรรยากาศภายในห้องมีทั้งงานวัด รถตุ๊กตุ๊ก หายเร่ มวยไทย และรถเข็นขายส้มตำไก่ย่าง และเป็นการตั้งคำถามว่าสิ่งเหล่านี้คือความเป็นไทยแท้จริงหรือ นอกจากนี้ยังมีประกาศ "ตามหาไทยแท้" ปรากฎอยู่


ประกาศ "ตามหาไทยแท้"


บรรยากาศงานวัดและรถเข็นส้มตำ


               ห้องสุดท้ายของบริเวณชั้น 1 นั้นคือห้องที่ 17 ตึกเก่าเล่าเรื่อง เป็นห้องที่จัดแสดงความเป็นมาและพัฒนาการของอาคารนิทรรศการ ตั้งแต่ยังคงเป็นอาคารกระทรวงพาณิชย์ ผ่านการบูรณะซ่อมแซม ตลอดจนกลายเป็นมิวเซียมสยามในปัจจุบัน


                            

 ศิวพร ปิยะศรีสวัสดิ์.“Museum Siam A New Chapter for Thai Museum.”กินรี.25(05):44-48,2551.
“Museum Siam ขนบใหม่แห่งพิพิธภัณฑ์.” ผู้จัดการ.25(298):144-149,2551.
(มิวเซียมสยาม,th.wikipedia.org, 27 พฤษภาคม 2555)

ประวัติความเป็นมา


               จากอาคารกระทรวงพาณิชย์ที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมทรงโคโลเนียลอายุกว่า 80 ปี บัดนี้ได้รับการบูรณะซ่อมแซมใหม่ จนปัจจุบันได้กลายเป็น "มิวเซียมสยาม" พิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้แนวใหม่ แห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้การดูแลของสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หน่วยงานเฉพาะด้านของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้

          ย้อนไปเมื่อประมาณกลางปี 2547 ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มสร้างขึ้น นับเป็นการรอคอยถึง 4 ปี จนเมื่อวันที่23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ และได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา




มิวเซียมสยามแห่งนี้ลงทุนด้วยงบประมาณกว่า 134 ล้านบาท ด้วยอาณาบริเวณกว่า 7 ไร่ ประกอบด้วย 4 อาคาร ได้แก่ อาคารนิทรรศการชั่วคราวและกิจกรรมพิเศษ เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนหัวข้อการจัดแสดงให้ผู้ชมได้ตื่นตาตื่นใจ อาคารโรงปฏิบัตินิทรรศการและหลุมขุดค้นทางโบราณคดี อาคารสำนักงานพิพิธภัณฑ์ และอาคารนิทรรศการหรืออาคารพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ซึ่งเป็นอาคารที่จัดแสดงนิทรรศการเรียงความประเทศไทย ที่จะบอกว่าเรานั้นคือใคร อะไรคือไทยแท้ ทำไมต้องเปลี่ยนสยามเป็นประเทศไทย สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน เป็นต้น โดยผ่านห้องนิทรรศการทั้ง 17 ห้อง ซึ่งอาจมีเนื้อหาและวิธีการนำเสนอเรื่องของประวัติศาสตร์แตกต่างจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิง





การสร้างมิวเซียมสยามนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นต้นแบบของแหล่งเรียนรู้โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ ทั้งนี้เพื่อสร้างสำนึกรักในประเทศไทย โดยที่ผู้เข้าชมนั้นสามารถศึกษาและชมนิทรรศการดังกล่าวได้ด้วยตนเองตามเส้นทางที่พิพิธภัณฑ์ได้ตระเตรียมไว้ ซึ่งเห็นได้ว่าทุกห้องของพิพิธภัณฑ์นั้นล้วนเชื้อเชิญให้ผู้ชมนั้นมีส่วนร่วม และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองผ่านสื่อทันสมัยต่างๆ นับเป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่น่าตื่นตาทีเดียว


 ศิวพร ปิยะศรีสวัสดิ์.“Museum Siam A New Chapter for Thai Museum.”กินรี.25(05):44-48,2551.
“Museum Siam ขนบใหม่แห่งพิพิธภัณฑ์.” ผู้จัดการ.25(298):144-149,2551.

วันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

แนะนำ

              MUSEUM SIAM พิพิธภัณฑ์แนวใหม่ที่จะทำให้คุณเข้าใจประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างถ่องแท้ ด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย นอกจากนี้ คุณยังสามารถเรียนรู้และสัมผัสได้ด้วยตนเอง ดังนั้นถือว่า MUSEUM SIAM เป็นพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจและไม่ควรพลาดเลยทีเดียว